วันที่นำเข้าข้อมูล 11 เม.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 พ.ย. 2565

| 887 view

ข้อปฏิบัติในกรณีคนไทยถูกจับกุมตัว กักขัง หรือกักตัวเป็นพยานในสิงคโปร์

  1. กรณีถูกจับกุมตัว ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันทีว่าประสงค์จะติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อขอความช่วยเหลือทางด้านกงสุล และแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ Hotline ของสถานเอกอัครราชทูตฯ +65 8421 0105 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อขอพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ
  2. ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ให้แจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในการขอล่าม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีล่ามซึ่งเป็นคนไทยจัดหาไว้อยู่แล้ว เพื่อช่วยในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่าให้การหรือปากคำจนกว่าจะได้ล่ามเนื่องจากการให้การของท่านทุกประการย่อมมีผลต่อรูปคดี และการตัดสินของศาลได้
  3. กรณีตำรวจให้ผู้ที่ถูกจับกุมตัวลงนามในหนังสือแจ้งความจำนงค์การเข้าถึงช่วยเหลือด้านกงสุล (Notification on the right of consular access in pursuant to article 36 of the Vienna Convention on Consular Relations) ให้เลือกการขอรับการติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ 
    • “I wish/ I do no wish to inform the consular representative of my state of nationality of my arrest.”
  4.  สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอเรียนว่า การขอรับความช่วยเหลือทางด้านกงสุลจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ล้วนแต่เป็นประโยชน์แก่ผู้ถูกจับกุมตัวหรือคุมขัง อาทิ
    1. ประสานหาทนายความท้องถิ่นที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องคดี
    2. การแจ้งญาติของผู้ถูกจับกุมตัวหรือถูกกักขังที่ประเทศไทยให้ทราบ เนื่องจากหากผู้ที่ถูกจับกุมตัวหรือกักขัง ไม่ได้เดินทางกลับประเทศไทยตามกำหนด จะเกิดความกังวลใจว่าญาติของตนเจ็บป่วย เสียชีวิต ทั้งนี้ หากท่านไม่ประสงค์ไม่ให้สถานเอกอัครราชทูตฯ แจ้งญาติของท่านหากถูกจับกุมตัว สถานเอกอัครราชทูตฯ จะเคารพการตัดสินใจของท่าน และไม่แจ้งให้ญาติพี่น้องของท่านทราบ รวมทั้งไม่แจ้งสื่อมวลชน สถานเอกอัครราชทูตฯ เคารพในสิทธิของท่านในการไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และเท่าที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยทั่วโลกต่างปฏิบัติตามจรรยาบรรณของการปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชาชนคนไทยที่ขอรับความช่วยเหลือมาโดยตลอด
    3. ในกรณีผู้ที่ถูกกักตัวไว้เป็นพยานในสิงคโปร์ ในกรณีต่างๆ อาทิ การค้าประเวณีที่ผิดกฎหมาย คดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เจ็บป่วย สถานเอกอัครราชทูตฯ จะได้ให้ความช่วยเหลือ ติดต่อประสานโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัว เนื่องจากมีกรณีหญิงไทยที่ต้องคดีและไม่ประสงค์รับความช่วยเหลือด้านการกงสุล ล้มป่วยและเสียชีวิตลงเมื่อปีที่ผ่านมา หากสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับการติดต่อจากหญิงไทยดังกล่าวแล้ว กรณีการเสียชีวิตดังกล่าวอาจไม่เกิดขึ้น
  5.  สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอแจ้งสิทธิที่คนไทยที่ถูกจับกุมตัวหรือกักขังพึงจะได้รับตามอนุสัญญา กรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ค.ศ. 1963 ข้อ 36 ที่ให้อำนาจสถานเอกอัครราชทูตฯ ในการติดต่อคนไทยที่ถูกจับกุมตัวหรือถูกกักขัง ดังนี้ 
    1. เจ้าพนักงานกงสุลของสถานเอกอัครราชทูตฯ จะมีเสรีภาพที่จะสื่อสารและเข้าถึงคนไทย คนไทยจะมีเสรีภาพเช่นเดียวกันในส่วนที่เกี่ยวกับการสื่อสารและการเข้าถึงเจ้าพนักงานกงสุล
    2. ถ้าคนไทยร้องขอ เจ้าหน้าที่ตำรวจของสิงคโปร์จะต้องแจ้งให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ทราบโดยไม่ชักช้า หากคนไทยนั้นถูกจับกุม หรือถูกขังไว้ในเรือนจํา หรือถูกควบคุมตัวระหว่างการดําเนินคดี หรือถูกกักขังในลักษณะอื่นใด ภายในเขตกงสุล การสื่อสารใดที่มีถึงสถานเอกอัครราชทูตฯโดยบุคคลที่ถูกจับกุมที่อยูในเรือนจํา ที่ถูกควบคุม หรือที่ถูกกักเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะต้องส่งต่อไปโดยไม่ชักช้าด้วย
    3. สถานเอกอัครราชทูตฯ มีสิทธิเข้าเยี่ยมคนไทยซึ่งอยู่ในเรือนจํา ถูกควบคุมหรือถูกกักขัง สนทนา และติดต่อทางหนังสือกับคนไทย และจัดให้มีผู้แทนทางกฎหมายของบุคคลเช่นว่านี้ เจ้าพนักงานกงสุลของสถานเอกอัครราชทูตฯ มีสิทธิเข้าเยี่ยมคนไทยซึ่งอยู่ในเรือนจํา ถูกควบคุม หรือถูกกักขังในสิงคโปร์ตามคําพิพากษาของศาลด้วย อย่างไรก็ตาม เจ้าพนักงานกงสุลต้องงดเว้นการดําเนินการแทนคนไทยซึ่งอยูในเรือนจํา ถูกควบคุม หรือถูกกักขัง ถ้าคนไทยผู้นั้นคัดค้านการกระทําเช่นว่านั้นโดยชัดแจ้ง